Wikipedia

ผลการค้นหา

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อัญมณีและแหล่งที่พบในประเทศไทย




อัญมณีและแหล่งในประเทศไทย

ประเทศไทยมีอัญมณีหลายชนิด ที่สำคัญ ได้แก่ ทับทิม แซปไฟร์ โกเมน เพทาย และควอตซ์

ทับทิมและแซปไฟร์ (RUBY AND SAPPHIRE)


เป็นอัญมณีชนิดที่พบมาก มีค่าและราคาสูง ทำรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อัญมณีทั้งสองชนิดนี้ จัดเป็นแร่อยู่ในประเภทแร่คอรันดัม หรือกะรุนในภาษาไทย คำเดิมมาจากภาษาทมิฬ (kurundum) หรือมาจากภาษาสันสกฤต (korund or karund) ruby มาจากภาษาลาติน (ruber or rubeus) หมายถึง สีแดง ส่วน sapphire มาจากภาษาละติน (sapphirus) หรือภาษากรีก (sappheiros) หมายถึง สีน้ำเงิน ผลึกแร่อยู่ในระบบเฮกซะโกนาล (Hexagonal) รูปผลึกที่พบมาก มีลักษณะเป็นแท่งยาวหกเหลี่ยม ป่องตรงกลาง คล้ายถังเบียร์ มีความโปร่งใสถึงทึบแสง ส่วนประกอบทางเคมีเป็นอะลูมิเนียมออกไซด์ (A12O3) ภายในเนื้อแร่มักมีธาตุชนิดอื่นปนเป็นมลทิน เช่น Cr, Fe, Ti, V เป็นต้น ซึ่งมลทินธาตุเหล่านี้ ที่เป็นตัวทำให้คอรันดัมมีสีแตกต่างกันออกไปในแต่ละชนิด Cr ทำให้เกิดสีแดงเรียกว่า ทับทิม Ti และ Fe ทำให้เกิดสีน้ำเงินเรียกว่า ไพลิน เป็นต้น คอรันดัมมีค่าความแข็งเท่ากับ ๙ ความถ่วงจำเพาะประมาณ ๔ มีความวาวคล้ายแก้วถึงคล้ายเพชร มีค่าดัชนีหักเหแสง ๒ ค่า และมีสีแฝดเกิดได้ ๒ สี คอรันดัมเกิดขึ้นได้ในหินชนิดต่างๆ หลายชนิด สำหรับในประเทศไทยพบเกิดในบริเวณหินภูเขาไฟชนิดบะซอลต์ ซึ่งมักพบในลักษณะผุพังจากหินต้นกำเนิดเดิมมาแล้ว (Secondary deposits) ทั้งที่เป็นแบบผุพังอยู่กับที่ในดินบะซอลต์ (Residual basaltic deposits) และแบบถูกนำพาเคลื่อนที่ไปสะสมที่อื่นๆ ตามลำห้วย แม่น้ำลำธาร ลำคลอง ท้องน้ำ และบริเวณที่ราบลุ่ม เรียกว่า แบบลานแร่ (Placer) มีการผลิตแร่ด้วยเทคนิควิธีการแบบชาวบ้าน ไปจนถึงใช้เทคนิคเครื่องมือ และวิธีการที่ทันสมัย

ทับทิม (Ruby)


เป็นอัญมณีที่มีค่า และราคาแพง มากที่สุดในบรรดาแร่คอรันดัมทั้งหมด สีแดงที่เป็นที่นิยมกันมากที่สุดคือ สีแดงเข้มบริสุทธิ์ มีสีน้ำเงินปนเล็กน้อย หรือที่เรียกว่า สีเลือดนกพิราบ ซึ่งเป็นสีของทับทิมคุณภาพสูง ที่มีในประเทศพม่า และทั่วโลกยอมรับกันว่า สวยที่สุด สำหรับทับทิมของไทยชาวบ้านเรียกว่า พลอยแดง ส่วนมากมีสีแดงอมม่วงถึงแดงอมดำ เป็นทับทิมคุณภาพสูง ไม่แพ้ทับทิมพม่าเช่นกัน แหล่งทับทิมที่สำคัญที่สุดของไทย คือ บริเวณอำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด บริเวณอำเภอเมือง อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ก็พบอยู่บ้าง ในปัจจุบันนี้การทำเหมืองในบริเวณดังกล่าวเหลือน้อยลง จึงมีการนำเข้ามามากขึ้น จากแหล่งในต่างประเทศ ทั้งใกล้และไกล เช่น กัมพูชา เวียดนาม พม่า แอฟริกาใต้ ลาว เป็นต้น

แซปไฟร์ (Blue Sapphire)

เป็นแค่คอรันดัมที่มีสีต่างๆ กันที่ไม่ใช่สีแดง มีได้ทั้งสีน้ำเงิน เหลือง ส้ม ม่วงหรือเขียว สีน้ำเงิน (Blue Sapphire) เรียกว่า ไพลิน สีเหลือง (Yellow Sapphire) เรียกว่า บุษราคัม หรือพลอยน้ำบุษร์ ถ้ามีสีเขียวปนเรียก บุษร์น้ำแดง มีสีเหลืองทองเรียก บุษร์น้ำทอง สีเขียว (Green Sapphire) เรียกว่า เขียวส่อง (น้ำหน้ามีสีน้ำเงิน และน้ำข้างมีสีเขียว) เขียวมรกต (เขียวสดสีขวดน้ำอัดลมชนิดหนึ่ง) เขียวบุษร์ (เขียวอมเหลือง) สาแหรก (มีรูปดาว ๔-๖ แฉก) สำหรับไพลิน สีที่ถือกันว่าสวยที่สุดคือ สีน้ำเงินเข้มสด มีสีม่วงปนเล็กน้อย ซึ่งเป็นสีของไพลินคุณภาพสูงจากแคชเมียร์ในอินเดีย ไพลินสีสวยรองลงมาเป็นไพลินจากพม่าและกัมพูชา ส่วนไพลินของไทย โดยเฉพาะจากแหล่งในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ก็มีสีสวยเทียบได้กับไพลินจากศรีลังกา แหล่งไพลิน (แซปไฟร์อื่นๆ ด้วย) ที่ใหญ่ที่สุด คุณภาพดีของประเทศไทยในปัจจุบันนี้คือ แหล่งในบริเวณอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนแหล่งในจังหวัดอื่นๆ ก็มี แต่คุณภาพไม่ดีนักเช่น บริเวณอำเภอเด่นชัย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ บริเวณอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย บริเวณอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ บริเวณอำเภอกันทรลักษณ์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี สำหรับในบริเวณแหล่งจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราดนั้น ได้ทำเหมืองมานานแล้ว ผลิตผลถดถอยน้อยลง จึงมีการนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย ศรีลังกา กัมพูชา พม่า แอฟริกาใต้ เช่นกัน

อนึ่ง พลอยคอรันดัม ไม่ว่าจะเป็นทับทิม หรือแซปไฟร์สีต่างๆ เกือบทั้งหมด ทั้งจากแหล่งในประเทศ และต่างประเทศ มักจะผ่านกรรมวิธีเพิ่มคุณภาพต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของสี เพื่อให้ดูมีสีสวยงามมากขึ้น เช่น วิธีการให้ความร้อน หรือที่เรียกว่า เผาหรือหุง การเผา เคลือบสี การอาบรังสี การย้อมสี เป็นต้น สำหรับคนไทยแล้ว การเผาพลอยเป็นวิธีการที่ คนไทยมีความรู้ ความสามารถมาก มีความเข้า ใจและมีทักษะในเทคนิควิธีการทำได้อย่างมีผล สำเร็จเป็นอย่างมาก จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก แต่เทคนิควิธีการ มักจะถูกปกปิดเป็นความลับ โดยรู้กันเฉพาะสำหรับนักเผาพลอยแต่ละคน ปกติแล้วจะไม่ยอมเปิดเผย ให้เป็นศาสตร์สากล ที่เรียนรู้กันโดยทั่วไป

ลักษณะมลทินต่างๆ ที่พบในเนื้อพลอยคอรันดัมของไทย ได้แก่ มลทินผลึกของแร่ต่างๆ เช่น การ์เนต พิร์โรไทต์ อะพาไทต์ เฟลด์สปาร์ ฮอร์นแบลนด์ มลทินผลึกรูปร่าง คล้ายเข็มเล็กยาวของแร่รูไทล์ โบห์ไมต์ มลทิน ของไหลรูปร่างคล้ายลายนิ้วมือ ขนนก เมฆหรือ หมอกควัน มลทิน โซนสีแบบเส้นตรงและแบบรูป หกเหลี่ยม มลทินผลึกแฝดซ้ำซ้อน

โกเมน (GARNET)

โกเมนที่พบเป็นชนิดสีแดง ทั้งชนิดไพโรป และแอลมันไดต์ ซึ่งมีระดับสีแดงต่างๆ เช่น แดงอมดำ แดงอม น้ำตาล แดงอมม่วง แดงอมส้ม เป็นต้น การ์เนตจัดเป็นกลุ่มแร่หนึ่ง ผลึกแร่อยู่ในระบบไอโซเมทริก รูปผลึกที่พบกันมากมีลักษณะกลมคล้ายลูกตระกร้อ โปร่งแสง ถึงทึบแสง มีส่วนประกอบทางเคมีเป็นแร่กลุ่มซิลิเกตกับธาตุเหล็ก หรืออะลูมิเนียมกับธาตุอื่นๆ อีกหลายชนิด มี ความแข็ง ๗-๗.๕ ความถ่วงจำเพาะ ๓.๗๘- ๔.๑๕ มีค่าดัชนีหักเหแสงค่าเดียว มีความวาวเหมือนแก้ว แหล่งที่พบมักเกิดร่วมกับพลอยคอรันดัมในแหล่งต่างๆ เช่น อำเภอเมือง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อำเภอบ่อไร่ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น

เพทาย (ZIRCON)


เป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในอดีตของไทยถึงกับเรียกว่า "เพชรไทย"จัดเป็นแร่ที่มีผลึกอยู่ในระบบเททระโกนาล รูปผลึกที่พบกันมาก มีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมยาว ปลายแหลม ลักษณะโปร่งแสง ถึงโปร่งใส ส่วนใหญ่มีสีออกไปทางสีน้ำตาลต่างๆ มีส่วนประกอบทางเคมี เป็นเซอร์โคเนียมซิลิเกต (ZrSiO4) มีความแข็ง ๖-๗.๕ ความถ่วงจำเพาะ ๓.๙๐-๔.๗๑ มีค่าดัชนีหักเหแสง ๒ ค่า มีความวาว และมีค่าการกระจายแสงสูงใกล้เพชรมาก แหล่งที่พบก็มักเกิดร่วมเป็นเพื่อนพลอยคอรันดัม ตามแหล่งต่างๆ เช่น อำเภอเมือง อำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอ กันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น โดยมากแล้วเพทายมักจะนำไปเผา ให้มีความใส มากขึ้นหรือทำให้เปลี่ยนเป็นสีขาว เหลือง ฟ้า แล้วจึงนำไปเจียระไน โดยเฉพาะชนิดสีขาวใส เมื่อเจียระไนแล้วจะมีลักษณะคล้ายเพชรมาก

ควอตซ์ (QUARTZ)



พบทั้งในชนิดที่เป็นเนื้อผลึก (Crystalline quartz) และชนิดเนื้อเนียนละเอียด (Crypto-crystalline quartz) เป็นแร่อยู่ในระบบผลึกเฮกซะโกนาล รูปผลึกที่พบมากมีลักษณะเป็นแท่งหกเหลี่ยมยาว ปลายแหลมปิดหัวท้ายผลึก มีสีต่างๆ เช่น สีชมพู (Rose quartz) สีม่วง (Amethyst) สีควันไฟ (Smoky quartz) หินผลึกขาวใส (Rock crystal) ผลึกขาวใสที่มี มลทินแร่ชนิดอื่นอยู่ภายในเนื้อ เช่น รูไทล์ ทัวร์มาลีน คลอไรต์ ไมกา ฮีมาไทต์ เป็นต้น ที่เรียกกันว่าแก้วโป่งข่าม ซึ่งเป็นที่นิยมมากใน ประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๓ สำหรับชนิดเนื้อเนียนละเอียดก็พบมีลักษณะแตก ต่างกันไป เช่น คาลซีโดนี ได้แก่ ซาร์ด (Sard) มีสีน้ำตาลอ่อน-เข้ม ส้มปนน้ำตาล คาร์นีเลียน (Carnelian) มีสีแดงอมส้ม น้ำตาลแดง หรือ น้ำตาลส้ม อะเกต หรือ โมรา มีลักษณะเป็น ชั้นสีสลับขนานกันทั้งที่เป็นแนวตรงหรือแนวโค้งงอ (Banded agate) ลักษณะคล้ายต้นไม้หรือสาหร่าย อยู่ในเนื้อ (Moss agate) โอนิกซ์ มีลักษณะเป็น ชั้นสีขนานกันเป็นแนวตรง หินเลือดประ มีเนื้อ สีเขียวทึบมีจุดสีแดงฝังประในเนื้อพื้นเขียวดังกล่าว ฟรินต์ หรือหินเหล็กไฟ มีสีด้านทึบ สีเทา สีควันไฟ หรือดำอมน้ำตาล เชิร์ตมีสีอ่อนกว่าฟรินต์ แจสเพอร์มีสีแดง หรือน้ำตาลปนแดง มีลักษณะเหมือนเชิร์ต เป็นต้น ควอตซ์มีส่วนประกอบทางเคมีเป็นซิลิคอนไดออกไซด์ (SiO2) มีความแข็ง=๗ ความถ่วงจำเพาะ ๒.๖๕-๒.๖๗ มีค่าดัชนีหักเหแสง ๒ ค่า มีความวาวเหมือนแก้ว แหล่งที่พบมีดังนี้

ชนิดผลึก
ควอตซ์ผลึกขาวใส และผลึกใส ที่มีมลทินแร่อื่น อยู่ภายในอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อำเภอสา จังหวัดน่าน อำเภอเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ

ควอตซ์สีชมพู อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

ควอตซ์สีควันไฟ อำเภอสะเมิง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ควอตซ์สีม่วงหรือแอเมทิสต์ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

ชนิดเนื้อเนียนละเอียด

อะเกต คาลซีโดนี คาร์เนเลียน ซาร์โดนิกซ์ อำเภอชัยบาดาล อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี จังหวัดลำพูน กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่

หินเลือดประ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์

แจสเพอร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์

ไม้กลายเป็นหิน ที่พบทั่วไป เกิดจากซิลิกาแทนที่เนื้อไม้เป็นส่วนใหญ่ อำเภอจักราช อำเภอเมือง อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดตาก อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี กิ่งอำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี

นิลตะโก (BLACK SPINEL)

มักเกิดร่วมเป็นเพื่อนพลอยคอรันดัมตามแหล่งต่างๆ เช่น บริเวณอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

นิลเสี้ยนหรือไพรอกซีนดำ (BLACK PYROXENE-Augite)


มักเกิดร่วมเป็นเพื่อนพลอยคอรันดัมตามแหล่งต่างๆ เช่น บริเวณ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอ ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อำเภอบ่อไร่ จังหวัด ตราด อำเภอวังชิ้น อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

เพชร (DIAMOND)

พบในแหล่งแร่ดีบุกหลายแห่ง ทั้งในทะเล และบนบก ในแถบอำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต อำเภอตะกั่วป่า อำเภอเมือง จังหวัดพังงา

เพชรน้ำค้างหรือซานิดีน (SANIDINE FELDSPAR-Moonstone)


พบที่ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตราด

อะความารีนเบริล (AQUAMARINE- BERYL)


ส่วนใหญ่มีสีฟ้าอ่อน เนื้อทึบไม่ค่อยใส และมักมีรอยแตกร้าว พบในหินและสายแร่เพกมาไทต์ บริเวณอำเภอแม่แจ่ม อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร

ไข่มุก (PEARL)


เป็นมุกเลี้ยง (Cultured pearl) ที่เกาะนาคาน้อย จังหวัดภูเก็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

อุลกมณี (TEKTITE-ดาวตกชนิดหนึ่ง)



พบมากในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครพนม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดเลย จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดแพร่ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โอปอธรรมดา (COMMON OPAL)



พบที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดน่าน

แอกทิโนไลต์ (ACTINOLITE)


พบที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์

เพริดอต (PERIDOT)


พบเกิดร่วมเป็นเพื่อนพลอยคอรันดัมที่ อำเภอเด่นชัย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่

พรีห์ไนต์ (PREHNITE)


พบที่อำเภอเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี


 อ้างอิงและขอขอบพระคุณ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น